Site icon Thai Let's Go

ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ทำสวนผสม ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา จนกลายเป็นรายได้หลักอีกทางหนึ่ง

หากเอ่ยชื่อ จินตนา ไพบูลย์ หรือ “ป้านุ้ย” สาวใหญ่วัย 50 ปี แห่งบ้านทอน-อม อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ในแวดวงเกษตรกรรมแนวเศรษฐกิจพอเพียงของชุมพรคงไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเธอถือเป็นผู้หญิงแถวหน้า ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ที่เคยฝากผลงานด้านเกษตรกรรมผสมผสาน รวมทั้งการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ชาวชุมพรและบุคคลทั่วไปได้รู้จักมาแล้วมากมาย

ป้านุ้ย เป็นชาวชุมพรที่เกิดในครอบครัวชาวสวนแห่งหมู่บ้านทอน-อม อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร เธอจึงเติบโตมากับพืชผัก ผลไม้ แทบทุกชนิดที่พ่อแม่ปลูกไว้กินและขายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ปัจจุบันป้านุ้ยมีพื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 30 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มังคุด และกล้วยเล็บมือ ซึ่งป้านุ้ยทำมาได้ประมาณ 25ปี จนในปี 2549 ป้านุ้ยได้เดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรกรรมธรรมชาติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ภายในชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท 2 วัน 1 คืน จึงได้รับความรู้มากมาย เช่น การทำน้ำส้มควันไม้ การทำเตาเผาถ่านอิวาเตะ การเลี้ยงกบคอนโดฯ การเลี้ยงหมูหลุม การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ฯลฯ โดยวิทยากรคุณภาพที่เป็นคนถ่ายทอดให้คือพงศา ชูแนม อดีตหัวหน้าหน่วยรักษาป่าต้นน้ำพะโต๊ะ และ วริสร รักษ์พันธุ์ ซึ่งทั้ง 2 คน ต่างได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้วทั้งคู่

จากนั้น ป้านุ้ยจึงต่อยอดความรู้ด้วยการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ภาคสมทบ ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จนจบการศึกษาเมื่อปี 2552

ป้านุ้ย ได้นำความรู้ที่ได้รับจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลินของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท มาประยุกต์กับความรู้ที่ได้รับจากวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร โดยแบ่งสวนทุเรียนออกมา 1 ไร่ แล้วเริ่มต้นปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งขุดสระเพื่อเลี้ยงปลาในลักษณะสวนผสม พืชผักที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพวกพืชผักสวนครัวทุกชนิด เช่น ผักกูด ส้มจี๊ด มะนาว ผักเหรียง ชะอม ทางคูน (ออดิบ) สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียและพันธุ์สวี แก้วมังกรเหลืองและขาวแดง เพกาแม่ลูกดก แตงกวา ข่า ตะไคร้ กระชาย มะเขือม่วง พริกขี้หนู พริกไทย มะยม มะเฟือง ใบส้มแป้น มะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ฯลฯ

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงในพื้นที่ 1 ไร่ ก็มีเป็ด ไก่ แพะ และนกกระทา โดยนำมูลของสัตว์เหล่านี้มาใส่ในแปลงผัก นอกจากนั้น ยังเลี้ยงไส้เดือนเพื่อช่วยให้เกิดความสมดุลในดินตามธรรมชาติ สำหรับสระที่ขุดขึ้นมาเพื่อเก็บกักนำไว้ใช้รดพืชผักในพื้นที่ 1 ไร่แล้ว ยังใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาทับทิม ฯลฯ ซึ่งได้มูลเป็ด ไก่ นกกระทา มาเป็นอาหารปลาเหล่านี้ด้วย

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

“แรกๆ ที่เริ่มปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 1 ไร่ ป้านุ้ยก็จะนำพืชผักที่ปลูก รวมทั้งไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทา และนมของแพะที่เลี้ยงไปส่งในตลาด จนเวลาผ่านไปประมาณ 3-4ปี คือตั้งแต่ปี 2555 ก็ไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปส่งเองแล้ว เพราะจะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงบ้านของป้านุ้ยทุกวัน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งใดๆ อีกแล้ว” ป้านุ้ย เล่าอย่างภาคภูมิใจ

ป้านุ้ย เล่าต่อว่า ปัจจุบันการปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 1 ไร่ ได้กลายเป็นรายได้หลักอีกด้านหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว เมื่อสิ่งที่ทำประสบผลสำเร็จจึงมีผู้ให้ความสนใจ จากชาวบ้านในบ้านทอน-อมก็ขยายออกไปยังสังคมภายนอก จนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การยอมรับว่า สวนผสมในพื้นที่ 1 ไร่ ของป้านุ้ยเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามโครงการหมู่บ้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” และได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย โดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะป้านุ้ยยังมีโฮมสเตย์ไว้รองรับผู้ที่มาเยี่ยมชมศูนย์เป็นหมู่คณะและต้องการอยู่ในพื้นที่เกินกว่า 1 วัน ทำให้มีผู้สนใจทั้งในจังหวัดชุมพรและจากจังหวัดต่างๆ เดินทางมาเยี่ยมชมสวนผสมของป้านุ้ยที่ใช้ชื่อว่า “วิถีจินตนา หนึ่งไร่พอเพียง” เป็นหมู่คณะอยู่เสมอ นอกจากนั้น ป้านุ้ยยังได้รับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ป้านุ้ยได้รับเพิ่มขึ้นด้วยก็คือ ค่าตอบแทนวิทยากร รวมทั้งค่าอาหารและค่าที่พักโฮมสเตย์สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมสวนของป้านุ้ยเป็นหมู่คณะนั่นเอง

ในพื้นที่ 1 ไร่ ที่เราปลูกพืชผักสวนครัวทุกชนิดและเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ นอกจากเราจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้กินไว้ใช้ในครอบครัวโดยไม่เดือดร้อนแล้ว ผลผลิตที่เหลือเป็นจำนวนมาก ยังสามารถนำไปแจกจ่ายญาติพี่น้องและจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวด้วย จึงคิดว่าป้านุ้ยเดินมาถูกทางแล้ว” ป้านุ้ย กล่าว

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ปัจจุบันป้านุ้ย ยังมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารต้นไม้ สาขาบ้านทอน-อม มีสมาชิกซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 56 คน ซึ่งสมาชิกทุกคนจะต้องมีพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น 30 ชนิด เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง มะฮอกกานี ทุ้งฟ้า ตีนเป็ด พะยอม ตาเสือ หลุมพอ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ทางเครือข่ายธนาคารต้นไม้กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับธนาคารต้นไม้ ด้วยการประกาศให้มูลค่าต้นไม้แต่ละต้นนั่นคือ ต้นไม้ทุกต้นจะมีมูลค่าต้นละ 5บาท ต่อ 1 ปี เช่น ใครปลูกต้นไม้ 100 ต้นในปีแรก ก็จะมีมูลค่า 500 บาท ในปีที่ 2 ก็เพิ่มเป็น1,000 บาท ปีที่ 3 ปี เป็น 1,500 บาท และที่ 4 เป็น 2,000 บาท

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ป้านุ้ย หรือ จินตนา ไพบูลย์ แต่งงานมีลูกชาย1 คน จบการศึกษาระดับชั้น ปวส. และลูกสาวอีก 1 คน กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ส่วนสามีได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตั้งแต่ปี 2543ทำให้ร่างกายไม่ปกติเพราะขาหักทั้งสองข้าง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนเดิม ป้านุ้ยจึงต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว

Exit mobile version